ข่าว

เทียบอัตราการเก็บ ภาษี VAT ไทย-อาเซียน เก็บต่างจากเพื่อนบ้านกี่เปอร์เซ็นต์

เทียบอัตราการเก็บ ภาษี VAT ไทย-อาเซียน เก็บต่างจากเพื่อนบ้านกี่เปอร์เซ็นต์

06 ธ.ค. 2567

เทียบอัตราการเก็บ ภาษี VAT ไทย-อาเซียน เก็บต่างจากเพื่อนบ้านกี่เปอร์เซ็นต์ หลัง รมว.คลังเล็งศึกษา ปรับเป็น 15%

6 ธ.ค. 2567 กรณี นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงแนวทางการปรับโครงสร้างภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ของรัฐบาล โดยหนึ่งในมาตรการที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือ การปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากอัตราเดิม 7% ซึ่งถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในหลายประเทศทั่วโลก ที่จัดเก็บ VAT ในช่วง 15-25%

 

โดย นายพิชัย ระบุว่า การปรับปรุงโครงสร้างภาษีเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้ระบบภาษีของไทยสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลก พร้อมทั้งยกตัวอย่างมาตรการต่าง ๆ ที่กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษา ไม่ว่าจะเป็น ภาษีเงินได้นิติบุคคล , ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา , ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)

 

นายพิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การปรับเพิ่ม VAT แม้จะเป็นมาตรการที่อ่อนไหวและส่งผลโดยตรงต่อประชาชน แต่ก็สามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำในระยะยาวได้ 

 

แนวคิดการปรับขึ้นภาษี VAT เป็น 15% ว่าแค่บอกว่าแนวโน้มโลกเขาทำกันอย่างไร แค่ขอไปศึกษาเท่านั้นเอง พร้อมย้ำว่า แค่ศึกษา เราจะตัดสินใจอะไรก็ต้องดูเรื่องผลประโยชน์ให้กับส่วนรวม ยอมรับว่าจะต้องรับฟังความคิดเห็นให้รอบด้าน เนื่องจากการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน นายพิชัยกล่าว 

ทั้งนี้ ภาษี VAT ของไทย หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน พบว่า ไทยมีอัตราเก็บภาษีที่ต่ำ คือ 7% ขณะที่

 

  • เวียดนาม กัมพูชา และลาว จัดเก็บในอัตรา 10%
  • ฟิลิปปินส์ 12%
  • อินโดนีเซีย 11% และมีแผนเพิ่มเป็น 12% ในปี 2568
  • สิงคโปร์ เก็บภาษีสินค้าและบริการ (GST) ที่ 9%
  • มาเลเซีย แยกจัดเก็บเป็นภาษีการขาย 10% และภาษีบริการ 8%
  • เมียนมา ที่จัดเก็บต่ำกว่าที่ 5%
  • บรูไนและฮ่องกง ไม่มีการจัดเก็บ VAT และ GST

 

ขณะที่ เกาหลีใต้ เก็บ VAT 10%, จีน แยกเก็บตามประเภทสินค้า ทั้ง 6% / 9% และ 13% ญี่ปุ่นเก็บ 10% เยอรมนี 19% สหราชอาณาจักร 20% สหรัฐอเมริกา แตกต่างกันไปตามแต่ละรัฐ ส่วน ออสเตรเลีย เก็บ 10%

อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 ไทย ออกประกาศลดภาษี VAT เหลือ 7% ทุกปี ต่อเนื่องกันมาเป็นเวลา 28 ปีแล้ว โดยที่ภาษี VAT จำนวน 1 ใน 9 ที่เก็บได้จะส่งให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนที่เหลือจะโอนให้แก่รัฐบาลกลาง