"ทนายพัช" โต้ช่วยปกปิดหลักฐาน จ่อยื่นอุทธรณ์ อุบตอบข้อต่อสู้ เกรงมีผลรูปคดี
"ทนายพัช" เผย ศาลไม่ยกประเด็น ฝั่งจำเลยมาพิจารณา โต้ช่วยปกปิดหลักฐาน จ่อยื่นอุทธรณ์ อุบตอบข้อต่อสู้ เกรงมีผลรูปคดี
20 พ.ย. 2567 ที่ ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ภายหลังศาลอาญามีคำพิพากษา ประหารชีวิต นางสรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์ หรือ "แอม ไซยาไนด์" คดีวางยาเท้าแชร์ก้อย และพิพากษาจำคุก พ.ต.ท.วิฑูรย์ รังสิวุฒาภรณ์ อดีตสามี 1 ปี 4 เดือน และพิพากษาจำคุก น.ส.ธันย์นิชา เอกสุวัณวัฒน์ หรือ ทนายพัช 2 ปี ฐานช่วยเหลือจำเลยที่ 1 มิต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลง และซ่อนเร้นทำลายหลักฐาน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.ท.วิฑูรย์ รังสิวุฒาภรณ์ และ ทนายพัช ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ ศาลพิจารณาคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เเล้วอนุญาตปล่อยชั่วคราว ตีราคาประกันคนละ1 เเสนบาท ไม่ได้กำหนดเงื่อนไข
ต่อมาเวลา 17.38 พ.ต.ท.วิฑูรย์ ได้รับการปล่อยตัวตามคำสั่งของศาล และเดินทางออกมาจากอาคารศาลอาญา ผู้สื่อข่าวพยายามจะเข้าไปสอบถาม และพูดคุย ปรากฏว่า พ.ต.ท.วิฑูรย์ ได้แต่มองหน้าผู้สื่อข่าว และเดินปรี่ไปขึ้นรถออกไปจากศาลทันที
ต่อมาเวลา 17.55 ทนายพัช ลงมาจากอาคารศาลอาญา พร้อมด้วย นายไชยา คุ้มอ่ำ ทนายความของจำเลยทั้ง 3 คน โดยได้เปิดเผยกับสื่อมวลชนหลังจากได้รับการประกันตัว
ทนายไชยา กล่าวว่า คำพิพากษาในวันนี้ถือเป็นดุลยพินิจของศาล เราต้องเคารพและไม่ก้าวล่วงต่อศาล เมื่อศาลใช้ดุลพินิจแบบไหนเราต้องมีหน้าที่ในการต่อสู้ในชั้นอุทรณ์ต่อไป แต่อย่างไรก็ตามด้วยความเคารพต่อศาล ตนไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาดังกล่าว เนื่องจากยังไม่ปรากฏประจักษ์พยานที่เห็นชัดจากฝั่งโจทก์ ที่นำมาประกอบในคำพิพากษา โดยพยานหลักฐานที่โจทก์กล่าวอ้างมีเพียงแค่แต่ไม่มีพยานที่ฝั่งจำเลยกล่าวอ้างเลย
ทนายไชยยา กล่าวอีกว่า ตนมองว่าทั้งพยานและคำให้การของฝั่งจำเลยนั้น ได้นำเสนอแก่ศาลในชั้นพิจารณาเรียบร้อยแล้ว แต่ตนมีความเห็นว่า ศาลไม่ยกประเด็นฝั่งจำเลยมาพิจารณาเลย ศาลมองแค่จำเลยได้กระทำความผิดตามที่โจทก์กล่าวอ้างเท่านั้น โดยศาลรับฟังแต่ในส่วนที่โจทก์นำสืบพยาน และในส่วนที่โจทก์ไม่ได้นำสืบพยาน แต่ศาลใช้ดุลยพินิจเชื่อว่าน่าจะได้กระทำความผิดหรือมีพยานหลักฐาน
โดยในชั้นอุทธรณ์นั้น จะมีหลายประเด็นที่ต้องต่อสู้ ในส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับการวินิจฉัยของศาล จะเน้นพยานหลักฐานฝั่งตนเองที่เคยนำสืบไปแล้วมาต่อสู้ในชั้นอุทรณ์ ตนคงไม่นำเสนอพยานหลักฐานใหม่ เช่น กรณีที่มีการปลอมปนยาในรถ ซึ่งฝั่งของตนมีการนำสืบว่าพบภาพวงจรปิดที่ขยายเห็นภาพภายในรถ แต่ในประเด็นดังกล่าวฝั่งโจทก์ไม่ได้นำเสนอในชั้นศาล ตามที่กล่าวอ้างว่ามีการปลอมปนยาภายในรถ ทำให้ศาลเชื่อว่ามีการกระทำความผิดดังกล่าว ตนเชื่อว่าฝ่ายโจทก์ไม่ได้ยกประเด็นกล้องวงจรปิดมานำสืบ เพราะจะทำให้ศาลเห็นว่าจำเลยไม่มีพฤติการณ์วางยาพิษ
ทนายไชยยา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ตนยังได้โต้แย้งในประเด็นนี้ว่า รถคันดังกล่าว ลูกของผู้ต้องหาก็อยู่ภายในรถด้วย แต่ไม่มีใครได้รับอันตราย เพราะถ้าหากเปิดขวดไซยาไนด์ขึ้นมา สารพิษจะต้องฟุ้งกระจายในรถแล้ว รวมทั้งผู้ที่มาตรวจรถต้องได้รับอันตรายจากสารไซยาไนด์แล้ว
ด้าน ทนายพัช กล่าวว่า พยานฝั่งจำเลย ทั้งคนติดตั้งกล้องวงจรปิดและความเห็นของหมอพรทิพย์ โดยในคำพิพากษาไม่มีการกล่าวถึงพยานส่วนนี้ของฝั่งจำเลยแม้แต่น้อย ทำให้ตนรู้สึกติดใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะความเห็นในส่วนของหมอพรทิพย์ ที่ไม่มีอยู่ในคำพิพากษาได้อย่างไร
เมื่อถามว่าประเด็นที่มีการพบขวดไซยาไนด์ภายในรถ ได้อย่างไร ด้านทนายพัช กล่าวว่า ทางตำรวจมีการสั่งซื้อไซยาไนด์ เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2566 แล้วนำมาทดสอบในรถเพื่อประกอบในสำนวนคดี ตนมองว่าประเด็นที่สำคัญอีก ก็คือไม่พบสารไซยาไนด์ในตัวของแอม รวมทั้งเสื้อผ้า หรือที่เล็บ และเสื้อผ้าของผู้ตาย ก็ไม่พบดีเอ็นเอของบุคคลอื่น ส่วนประเด็นที่พบว่ามีถุงดำ หรือถุงมือปรากฏในข่าวนั้น ก็ไม่พบดีเอ็นเอของแอมเช่นเดียวกัน
ส่วนการต่อสู้ของตน และพ.ต.ท.วิฑูรย์ ในชั้นอุทธรณ์ ตนยืนยันว่าไม่ได้เป็นการช่วยปกปิดพยานหลักฐาน และทำให้ผู้กระทำความผิดไม่ต้องรับโทษ แต่ตนไม่ขอเปิดเผยข้อต่อสู้เพราะจะมีผลต่อการต่อสู้ของรูปคดี