ประมาทไม่ได้ พบยอด ผู้ป่วย-เสียชีวิต ไข้หวัดใหญ่ปี 2567 พุ่งขึ้นต่อเนื่อง
ประมาทไม่ได้ กรมควบคุมโรค เผยยอด ผู้ป่วย-เสียชีวิต จากโรคไข้หวัดใหญ่ในปี 2567 ตัวเลขพุ่งทะยาน และยังมีทิศทางน่าเป็นห่วง พร้อมเผยถึงวิธีป้องกัน
6 ธ.ค. 2567 เพจเฟซบุ๊ก กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เผยแพร่ เนื้อหาเกี่ยวกับ ข้อมูลการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ จากระบบเฝ้าระวังโรคดิจิทัล (Digital Disease Surveillance: DDS) กองระบาดวิทยา ระหว่างวันที่ 1 มกราคม–30 พฤศจิกายน ปี 2567 พบจำนวนผู้ป่วย 630,786 ราย (อัตราป่วย 971.75 ต่อประชากรแสนคน) มีรายงานยอดผู้เสียชีวิต 47 ราย (อัตราป่วยตาย 0.008)
ข้อมูลจากการเฝ้าระวังเชื้อก่อโรค พบว่า เชื้อที่เป็นสาเหตุการระบาดส่วนใหญ่เป็นเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ชนิด A /H1N1
นอกจากนี้ กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เผยแพร่ สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ มีแนวโน้มระบาดเพิ่มมากขึ้น ข้อมูล ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 ระบุว่า กลุ่มที่พบอัตราป่วยสูงสุด ได้แก่ อายุ 0 – 4 ปี เท่ากับ 3,269.93 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 5–14 ปี (2,807.27) และ กลุ่มอายุ 15–24 ปี (807.57) อัตราส่วนเพศชายต่อเพศหญิงเท่ากับ 1:1
ภูมิภาคที่มีอัตราป่วย ต่อประชากรแสนคนสูงสุด คือ ภาคกลาง (1,243.11) รองลงมา คือ ภาคใต้ (978.71) ภาคเหนือ (750.43) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (740.84) จากการเฝ้าระวังเหตุการณ์การระบาดโรคไข้หวัดใหญ่ พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อน 63 เหตุการณ์ ส่วนใหญ่พบในสถานที่ที่มีการอยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมาก โดย มีรายงานการระบาดในโรงเรียนและเรือนจำ มากที่สุด สถานที่ละ 18 เหตุการณ์
รองลงมาเป็นโรงพยาบาล 6 เหตุการณ์วัด 5 เหตุการณ์ ศูนย์ฝึกอบรม 4 เหตุการณ์และศูนย์ดูแล/ฟื้นฟูผู้สูงอายุและสถานสงเคราะห์ สถานที่ละ 2 เหตุการณ์
จำนวนผู้ป่วย อยู่ระหว่าง 5–1,340 ราย ต่อเหตุการณ์ (ค่ามัธยฐาน 35 รายต่อเหตุการณ์ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ได้แก่ การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แออัด การใช้อุปกรณ์หรือภาชนะร่วมกัน การมีกิจกรรมที่สัมผัสใกล้ชิด เป็นต้น
รายงานผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ในระบบเฝ้าระวังโรค (DDS) ใน ปี 2567 พบผู้ป่วยสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–30 พฤศจิกายน 2567 สูงกว่าผู้ป่วยสะสมในปี พ.ศ. 2566 ในช่วงระยะเวลาเดียวกันถึง 1.5 เท่า และปัจจุบันภาพรวมของประเทศเริ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อพิจารณาผู้ป่วยรายสัปดาห์ และจำแนกรายภาค พบว่า ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภาคกลางและภาคใต้ และยังคงพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนของโรคติดต่อทางเดินหายใจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในโรงเรียน และเรือนจำ
นอกจากนี้พบการระบาดมากขึ้นในศูนย์ดูแล/ฟื้นฟูผู้สูงอายุและสถานสงเคราะห์ ดังนั้น ในฤดูหนาวนี้ซึ่งมักจะเป็นฤดูกาลระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่และโรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆ จึงมีโอกาสที่จะพบผู้ป่วยและการระบาดเป็นกลุ่มก้อนของโรคไข้หวัดใหญ่และโรคระบบทางเดินหายใจมากขึ้น
คำแนะนำวิธีป้องกันการติดเชื้อและการแพร่กระจายของเชื้อ สำหรับประชาชนทั่วไป
- ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง โดยออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ หากมีไข้สูง ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล ปวดศีรษะและตัว อ่อนเพลียมาก ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
- ดูแลร่างกายให้อบอุ่นในช่วงอากาศหนาวหรืออากาศเปลี่ยนแปลง
- บุคคลกลุ่มเสี่ยงโรครุนแรง ได้แก่ ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัว (เช่น โรคหอบหืด โรคหัวใจ และโรคเบาหวาน) หญิงตั้งครรภ์ และเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เป็นต้น ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ เพื่อลดความรุนแรงของโรค และการเสียชีวิต
- ปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม ต้องใช้ผ้าหรือกระดาษทิชชูปิดปากและจมูกทุกครั้ง หากเจ็บป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ ควรใส่หน้ากากอนามัย
- ดูแลสุขลักษณะอนามัยเพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ ดังนี้ ไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ , ไม่ใช้แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อน ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดมือ หรือของเล่นร่วมกับผู้ป่วย , ใช้ช้อนกลางทุกครั้ง เมื่อรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น , หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ เช็ดทำความ สะอาดพื้นผิวและสิ่งของที่มีคนสัมผัสบ่อย ๆ
การปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วย
1.กรณีที่มีอาการป่วยทางเดินหายใจ ต้องป้องกันการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น โดยการปฏิบัติตัว ดังนี้
- ควรหยุดเรียน หยุดงาน แม้จะมีอาการไม่มากก็ควรหยุดพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านเป็นเวลา 3–7 วัน หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ
- สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง เมื่อต้องคลุกคลีกับผู้อื่น
- ใช้กระดาษทิชชูหรือผ้าเช็ดหน้าปิดปาก ปิดจมูกทุกครั้ง เวลาไอ จาม และหมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ
2. หากผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้น เช่น หอบเหนื่อย ซึมลง รับประทานอาหารได้น้อย ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน
การป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่ สำหรับเจ้าหน้าที่
- สถานที่ที่มีความแออัดและเสี่ยงต่อการระบาด เช่น โรงเรียน เรือนจำ ควรมีการคัดกรอง เฝ้าระวัง อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ และแยกกักผู้ป่วยตั้งแต่รายแรก
- จัดทำมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัย เช่น การทำความสะอาดสถานที่แยกของใช้ส่วนตัวเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ จัดให้มีจุดล้างมือด้วยน้ำสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ ตามจุดต่าง ๆ ให้เพียงพอ
- เตรียมเวชภัณฑ์ที่จำเป็น เช่น เจลล้างมือ หน้ากากอนามัย ยาต้านไวรัส
- ให้ความรู้เรื่องการป้องกันโรค และการปฏิบัติตัวขณะป่วย เพื่อไม่ให้แพร่กระจายเชื้อโรค
- ให้วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยง